วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วันมาฆบูชา






 
4 มีนาคม 2558  วันมาฆบูชา
           


            วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง   คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3
           การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
           ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
          ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่
          1.วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
          2.มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
          3.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
          4.พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
          และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ
          จาตุร แปลว่า 4
          องค์ แปลว่า ส่วน
          สันนิบาต แปลว่า ประชุม
          ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

10 กุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน


ประวัติวันอาสารักษาดินแดน

          สำหรับความเป็นมาของ วันอาสารักษาดินแดน 10 กุมภาพันธ์ เกี่ยวพันกับการก่อตั้ง กองอาสารักษาดินแดน (อส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ สืบเนื่องจากเมื่อครั้งอดีต ชาวบ้านซึ่งไม่ใช่กำลังทหารมักออกมารวมตัวกันต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินในยามเกิดศึกสงครามเสมอ

          ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2454 ให้เป็นกองพลอาสาสมัครเพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ

          จากความพยายามจัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสาให้เป็นระบบ โดยมีการนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้ ในเวลาต่อมา ยุคสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มี พระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. 2484 เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการที่จะป้องกันรักษาประเทศชาติในเวลาสงคราม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ

          ในเวลาต่อมาได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 สืบเนื่องจากการดำเนินการด้านพลเรือนอาสามีรูปแบบและระบบที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนามาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จึงเป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดนนั่นเอง

10 กุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน

10 กุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน

วันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์




ประวัติวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์
           เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น วันนักประดิษฐ์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงประดิษฐ์ "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยน้ำ" หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา"และได้รับสิทธิบัตรทางปัญญาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ซึ่งนอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติแล้ว ยังเป็นวันที่ระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงคิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ปัญหาและรักษาสิ่งแวดล้อม

          สำหรับงานวันนักประดิษฐ์ครั้งแรกได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ณ ศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 


กิจกรรมวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์


          สำหรับกิจกรรมวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์นั้น จะเป็นการนิทรรศการและการแสดงผลงาน สิ่งประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการจัดประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ประเภททั่วไปและนักเรียน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนตลอดจนประชาชนทั่วไปหันมาสนใจการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

วันนักประดิษฐ์ ประวัติวันนักประดิษฐ์